หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

พลเมืองเรื่องดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย



ความหมายของ พลเมืองดี ในวิถีชีวิตประชาธิปไตย
                พจนานุกรมนักเรียนฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ได้ให้ความหมายของคำต่าง ๆ  ดังนี้
                พลเมือง  หมายถึง  ชาวเมือง  ชาวประเทศ  ประชาชน
                วิถี  หมายถึง  สาย  แนว  ทาง  ถนน
                ประชาธิปไตย  หมายถึง  แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่
                ดังนั้นคำว่า พลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย  จึงหมายถึง  พลเมืองที่มีคุณลักษณะที่สำคัญ  คือ  เป็นผู้ที่ยึดมั่น
ในหลักศีลธรรมและคุณธรรมของศาสนา  มีหลักการทางประชาธิปไตยในการดำรงชีวิต  ปฏิบัติตนตามกฎหมาย
ดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ 
ให้เป็นสังคมและประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหลักการทางประชาธิปไตย
                หลักการทางประชาธิปไตยที่สำคัญ  ได้แก่
1)      หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  หมายถึง  ประชาชนเป็นเจ้าของ  อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ
2)      หลักความเสมอภาค  หมายถึง  ความเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย  ถือว่าทุกคนที่เกิดมาจะมีความ
      เท่าเทียมกันในฐานะการเป็นประชากรของรัฐ  ได้แก่  มีสิทธิเสรีภาพ  มีหน้าที่เสมอภาคกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น
      หรือการเลือกปฏิบัติ  ควรดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอหรือยากจนกว่า
3)      หลักนิติธรรม  หมายถึง  การใช้หลักกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน เพื่อความสงบสุขของสังคม
4)      หลักเหตุผล  หมายถึง  การใช้เหตุผลที่ถูกต้องในการตัดสินหรือยุติปัญหาในสังคม
5)      หลักการถือเสียงข้างมาก  หมายถึง  การลงมติโดยยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตย  ครอบครัว
       ประชาธิปไตย  จึงใช้หลักการถือเสียงข้างมากเพื่อลงมติในประเด็นต่าง ๆ  ได้อย่างสันติวิธี
6)      หลักประนีประนอม  หมายถึง  การลดความขัดแย้งโดยการผ่อนหนักผ่อนเบาให้กัน  ร่วมมือกันเพื่อเห็นแก่ประโยชน์
      ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
      หลักการทางประชาธิปไตยจึงเป็นหลักการสำคัญที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตในสังคม  เพื่อก่อให้เกิดความสงบสุข
 ในสังคมได้

                                                         

แนวทางการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีชีวิตประชาธิปไตย
                พลเมืองดีตามวิถีชีวิตประชาธิปไตยควรมีแนวทางการปฏิบัติตนดังนี้ คือ
1)      ด้านสังคม  ได้แก่
(1)    การแสดงความคิดอย่างมีเหตุผล
(2)    การรับฟังข้อคิดเห็นของผู้อื่น
(3)    การยอมรับเมื่อผู้อื่นมีเหตุผลที่ดีกว่า
(4)    การตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
(5)    การเคารพระเบียบของสังคม
(6)    การมีจิตสาธารณะ  คือ  เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมและรักษาสาธารณสมบัติ
2)      ด้านเศรษฐกิจ  ได้แก่
(1)    การประหยัดและอดออมในครอบครัว
(2)    การซื่อสัตย์สุจริตต่ออาชีพที่ทำ
(3)    การพัฒนางานอาชีพให้ก้าวหน้า
(4)    การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
(5)    การสร้างงานและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก
(6)    การเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ดี   มีความซื่อสัตย์  ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ดีต่อชาติเป็นสำคัญ
3)      ด้านการเมืองการปกครอง  ได้แก่
(1)    การเคารพกฎหมาย
(2)    การรับฟังข้อคิดเห็นของทุกคนโดยอดทนต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
(3)    การยอมรับในเหตุผลที่ดีกว่า
(4)    การซื่อสัตย์ต่อหน้าที่โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
(5)    การกล้าเสนอความคิดเห็นต่อส่วนรวม  กล้าเสนอตนเองในการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
      หรือสมาชิกวุฒิสภา
(6)    การทำงานอย่างเต็มความสามารถ  เต็มเวลา